วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พิพิธภัณฑ์ชีวิต "หุ่นขี้ผึ้งไทย" จังหวัดนครปฐม



คุณเคยดูละครเรื่อง “ห้องหุ่น” บ้างไหมคะ ละครที่นำเสนอเรื่องราวของหุ่นมีชีวิต แต่วันนี้ฉันจะพาคุณไปพิสูจน์ค่ะว่า มันเป็นแค่เรื่องเล่า เป็นตำนาน หรือเป็นเรื่องจริง (ขณะที่อ่านกรุณาทำเสียงให้ชวนวังเวง เพื่อความสมจริง)


ซื้อตั๋วเสร็จ (100 บาท : ผู้ใหญ่ 2 คน) ก็มายืนทำใจอยู่ด้านหน้า พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย (THAI HUMAN IMAGERY MUSUEM) สัก พัก เพื่อรวบรวมสมาธิ และก้าวแรกที่เปิดประตูเข้าไป ให้ความรู้สึกวังเวง และขลังมากๆ แสงไฟสลัวทั่วทั้งห้อง ยกเว้นเคาน์เตอร์เจ้าหน้าที่ ที่พอให้มองเห็นและแยกแยะได้ ว่าเป็นคนหรือหุ่น แหะ แหะ

ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งนี้ เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจ ของนักสร้างสรรค์กลุ่มหนึ่ง นำโดย อ.ดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ ซึ่งสนใจเรื่องหุ่นขี้ผึ้ง และศึกษาทดลองนานกว่า 10 ปี จึงสามารถสร้างหุ่นขี้ผึ้งยุคใหม่จากไฟเบอร์กลาส ซึ่งมีความคงทน ประณีต งดงาม และเหมือนคนจริงมากที่สุด อันนี้คอนเฟิร์มค่ะว่าเหมือนมาก มาก แม้แต่แววตาของหุ่นแต่ละตัวก็ทำได้เหมือนกับว่าหุ่นตัวนั้น มีความรู้สึก และกำลังแสดงมันออกมา ซึ่งเหมือนคนจริง ๆ

หุ่นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร , หุ่นหลวงปู่ชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี

ตลอดการเดินชมจะมีลูกศรบอกเส้นทาง ไม่ต้องกลัวค่ะว่าจะพลาดช็อตเด็ดๆ คุณจะได้ชมหุ่นทุกตัวหากคุณเดินตามลูกศรนี้ เริ่มกันที่ห้องแรกค่ะ เป็นหุ่นผู้ชายวัยกลางคนอ่านหนังสือพิมพ์ ถัดมาเป็นหุ่นเลขากำลังสนใจทำบัญชี ห้องถัดมานั้นจะเป็นหุ่นพระภิกษุรูปดังๆ ทั้งนั้นเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด, หลวงปู่โต๊ะ, พระครูภาวนารังสี ฯลฯ หรือจะออกแนวจีนก็จะเป็น ไต้ซือเย็นบุญ

ห้องถัดมานี่ ถ้าใครไม่รักกันจริงนี่อาจต้องเลิกคบกันไปเลยค่ะ เพราะเป็นหุ่นที่ปั้นได้เหมือนคนมากกก บวกกับแสงไฟที่มีอยู่น้อยนิด ทำให้บรรยากาศดูขลังและวังเวงมากๆ ห้องนี้จะจัดแสดงหุ่นชุด “เหนื่อยนักพักก่อน” หุ่นชายสองคนในท่านั่งเก้าอี้เอกเขนก นอนอ้าปาก เห็นฟันครบทั้ง 32 ซี่ ข้างๆ กันเป็นหุ่นผู้ชายตัวอ้วนกลมนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ใกล้ๆ ตรงกันข้ามเป็นหุ่นชุดหมากรุกไทย หุ่นชายวัยกลางคนนั่งโขกหมากรุกกันอย่างเมามันส์

(บนจากซ้าย) หุ่นการเล่น หัวล้านชนกัน, หุ่นชุด เลิกทาส
(ล่างจากซ้าย) หุ่นครูจวงจันทน์ จันทร์คณา “บรมครูพรานบูรพ์”, หุ่นมหาตมะ คานธี บิดาแห่งประชาชาติอินเดีย, หุ่นชุดเหนื่อยนักพักก่อน

พ้นจากห้องเมื่อกี้มาได้ และฉันกับคู่หูก็ยังไม่ได้ทิ้งกันไปไหน ก็ค่อยรู้สึกอุ่นใจขึ้นมาหน่อย (ไม่อยากไปนั่งหาเพื่อนใหม่น่ะค่า..อิ อิ) ห้องต่อมาทำให้ฉันไม่เหลือความกลัวใด ๆ เลยค่ะ มีแต่ความตื่นตะลึง และเกรมขาม เพราะหุ่นทั้ง 8 ตัวที่อยู่ด้านหน้านี้ คือ หุ่นพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์พระบรมราชจักรีวงศ์ รัชกาลที่ 1-8 งดงาม และน่าทึ่งกับฝีมือคนไทยจริง ๆ ค่ะ ชื่นชมความงดงามได้ไม่นานก็ต้องเร่งทำเวลาเพื่อไปต่อ

และห้องถัดมาก็ทำให้น้ำตาซึมเลยค่ะ เพราะเป็นหุ่น สมเด็จย่า และพระพี่นางเธอฯ ในลักษณะที่สมเด็จย่าทรงประทับบนพระเก้าอี้ และมีพระพี่นางเธอฯ นั่งประทับเบื้องล่าง เป็นภาพที่สมเด็จย่ากำลังตรัสกับพระพี่นางเธอฯ เป็นอีกหนึ่งความทรงจำของคนไทย แม้ทั้งสองพระองค์จะสิ้นพระชนม์แล้วก็ตาม

ขึ้นมาชั้น 2 จะเป็น หุ่นครูเพลงไทย, หุ่นชุดบุคคลสำคัญของโลก, หุ่นชุดการละเล่นของไทย, หุ่นชุดวรรณคดีไทย เรื่องพระอภัยมณี และหุ่นชุดทาสที่กระทำความผิดและถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่สามารถเรียกร้องสิทธิใดๆ ได้ทั้งสิ้น

เรื่องราวของหุ่นมีชีวิต เป็นเรื่องจริง หรือเป็นแค่บทละคร คงมีแต่คุณเท่านั้นที่จะตอบได้ ส่วนคำตอบของฉันมีอยู่ในใจแล้วค่ะ

หุ่นการละเล่นของไทย ชุด รีรี ข้าวสาร,จ้ำี้จี้ และขี่ช้างชนกัน


รายละเอียดเพิ่มเติม :
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย (THAI HUMAN IMAGERY MUSUEM)
43/2 หมู่ที่ 1 ถ.พระบรมราชชนนี (ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) กม. 31 ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม 73120
เปิดเข้าชมทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 - 17.30 น.
วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30 – 18.00 น.
โทร. 034-332-607, 034-332-109
เวปไซต์ : www.rosenini.com
อัตราค่าเข้าชม :
ผู้ใหญ่ 50 บาท
พระภิกษุ, แม่ชี, นักบวช และนักศึกษาในเครื่องแบบ 20 บาท
เด็ก(ความสูงไม่เกิน 130 ซม.), นักเรียนอนุบาล- ม.6 ในเครื่องแบบ และสามเณร 10 บาท

เส้นทางไป พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย๔๓/๒ หมู่ ๑ ถนนบรมราชชนนี
(ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) กม.๓๑
ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
๗๓๑๒๐
โทร. ๐-๓๔๓๓-๒๖๐๗,
๐-๓๔๓๓-๒๑๐๙,
๐-๓๔๓๓-๒๐๖๑
โทรสาร ๐-๓๔๓๓-๒๐๖๑



ที่มา: คนเดินทาง.com
website:
http://www.konderntang.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น