วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชมโบสถ์สี่แผ่นดิน ที่วัดแก้วพิจิตร ปราจีนบุรี


วัดแก้วพิจิตร เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2422 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ บนริมฝั่งขวาของแม่น้ำปราจีนบุรีหรือแม่น้ำบางปะกง ห่างจากตัวเมือง ไปทางทิศตะวันออก สร้างขึ้นโดยนางประมูลโภคา หรือนางแก้ว  ประสังสิต เศรษฐีนีแห่งเมืองปราจีน ภริยาของขุนประมูลภักดี สร้างขึ้นเพื่อใช้ใน การทำบุญตักบาตร ถือศีลฟังธรรมโดยมีผู้ร่วมกัน บริจาคที่ดิน แรงงานและทุนทรัพย์ ในการก่อสร้าง สิ่งก่อสร้างในระยะแรก ประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฎี พระอุโบสถ ศาลาท่าน้ำและเรือนแพ


ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้อพยพครอบครัวจากเมืองพระตะบองมาอยู่ที่ปราจีนบุรี ท่านก็ได้อุปถัมภ์วัดนี้ โดยการบูรณปฏิสังขรณ์ ตลอดจนการสร้างเสนาสนะทั้งที่สร้างขึ้นใหม่และสร้างทดแทนของเก่า เช่น ในปี พ.ศ. 2451 ได้สร้างศาลาธรรมสังเวช และเมรุเผาศพ อย่างละ 1 หลัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศรสร้างโรงเรียน ศาลา เมรุ จึงได้ถูกรื้อไปจนหมดสิ้น
 

 
 
 
ในปี พ.ศ. 2461 เจ้าพระยาภูเบศรได้รื้อพระอุโบสถหลังเก่าซึ่งชำรุดแล้วสร้างพระอุโบสถ หลังใหม่ขึ้นแทนที่ พระอุโบสถหลังใหม่นี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทย จีน เขมร และยุโรป พระอุโบสถ ที่ฝาผนังด้านนอกมีภาพปูนปั้นตัวละคร ในเรื่องรามเกียรติ์ มีเสาแบบกรีก ด้านนอกหัวเสาเป็นแบบโครินเธียล ที่มีความงดงามแปลกตา และหาดูได้ยากยิ่ง 
การสร้างอุโบสถภายในวัดถือว่าต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์จึงมีการสร้างที่สวยงามวิจิตรและยิ่งใหญ่ ตามศิลปะแบบอย่างไทย นอกจากศิลปะแบบอย่างไทยแล้วก็ยังมีการนำศิลปะจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาประกอบและพัฒนาจนกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานได้อย่างลงตัว  ดังเช่นอุโบสถ ที่วัดแก้วพิจิตร แห่งเมืองปราจีนบุรี ที่สร้างขึ้นโดยได้นำศิลปกรรมผสมผสานระหว่าง ไทย,จีน,เขมร,ยุโรป เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่นสวยงามและมีความแปลกแตกต่าง จนกลายเป็นอุโบสถ สี่แผ่นดิน
 
 
 
 
พระอุโบสถหลังนี้เป็นอาคารเครื่องก่อ ขนาด 5 ห้อง มีเฉลียงรอบ หลังคามุงกระเบื้อง มีหลังคามุขประเจิด และหลังคาเฉลียงรอบ 2 ชั้น เครื่องลำยอง เป็นปูนลงรักประดับหน้าบันปูนปั้นเขียนสี มีลายปูนปั้นเป็นภาพวิมานพระอินทร์กลางลายพันธ์พฤกษา ขอบล่างของหน้าบันเป็นลายกระจังลายสาหร่ายรวงผึ้ง เสาหน้ามุขประเจิดเป็นลายปูนปั้นรูปมังกรข้างละ 1 ตัว
         ผนังพระอุโบสถด้านนอก ฉาบปูนเรียบที่ซุ้มประตูหน้าต่างทำเป็นลายก้านขด ระหว่างประตูเข้าด้านหน้าและด้านหลังทำเป็นลาย ปูนปั้นเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ผนังตอนบนใต้ชายคาเป็นภาพจิตรกรรมแบบตะวันตก เป็นลายเครื่องแขวน มีภาพเหมือนบุคคลหญิงชายชาวต่างประเทศครึ่งตัวอยู่ในครึ่งวงกลม เฉลียงรอบพระอุโบสถมีเสารองรับชายคาอุโบสถทั้งสี่ด้าน  เป็นเสากรีกแบบกลมเซาะร่องลูกพุกโดยรอบ หัวเสาใบผักกาดตามแบบตะวันตก รอบพระอุโบสถ มีซุ้มเสมาและกำแพงแก้วล้อมรอบ ผนังกำแพงเป็น ลายดอกไม้ในวงกลมหัวเสากำแพงตั้งกระถางต้นไม้ กึ่งกลางระหว่างกำแพงแก้ว มีซุ้มประตู ยอดซุ้มประดับลายปูนปั้นรูปหน้ากาก ดอกไม้ และนาฬิกาที่ผนังภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนติดอยู่ที่ผนังด้านตะวันตก พระพุทธรูปองค์นี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รวบรวมชิ้นส่วนของพระประธานในโบสถ์เดิมมาดัดแปลงขึ้นใหม่ ซึ่งถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก
 
 
 
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน พระนามว่า  พระปางประธานอภัย    ที่ฐานพระบรรจุอัฐิของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเอาไว้ด้วย เป็นพระพุทธรูปนั่งทำปางลักษณะค่อนข้างแปลก เรียกว่าปางประทานพระอภัย มีความสวยงามแปลกตาและเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งแห่งเมืองปราจีนบุรีทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้พระอุโบสถเป็นหอไตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สร้างเชื่อมกันกับหอระฆัง หลังคาปีกนกประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ส่วนหอระฆัง เป็นหลังคาทรงมณฑป
ศิลปะที่นำมาประกอบในการสร้างอุโบสถ ประกอบไปด้วย
1 ศิลปกรรมไทย ได้แก่ รูปแบบแผนผังอุโบสถ, ช่อฟ้า, ใบระกา, หางหงส์, บานประตูหน้าต่าง ลงรักปิดทองเป็นทวารบาน
2 ศิลปกรรมจีน ได้แก่ รูปปั้นมังกรเขียวหน้าจั่ว, หลังคาลายมังกร, ราวบันไดขึ้นอุโบสถ
3 ศิลปกรรม เขมรได้แก่ รูปแบบหลัง กำแพงแก้ว ซุ้มประตูแก้ว
4 ศิลปกรรมยุโรป ได้แก่ เสาแบบโคเธียล, โดมหลังคาโรงเรียนบาลีนักธรรมวินัย, การวาดภาพรูปชาวต่างประเทศล้อมรอบใต้ชายหลังคาด้านนอกอุโบสถ
 
 
 
ในปี พ.ศ. 2475 เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้รื้อ อาคารโรงเรียน หนังสือไทยหลังเดิม แล้วสร้าง โรงเรียนบาลีธรรมวินัยและหนังสือไทยเป็นอาคาร ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก โรงเรียนแห่งนี้ จัดได้ว่าเป็นโรงเรียนปริยัติธรรมแห่งแรกของจังหวัดปราจีนบุรี และภายหลัง จึงได้รับพระราชทานนาม โรงเรียนว่าโรงเรียนอภัยพิทยาคาร
ภายในวัดมีความร่มรื่นติดริมน้ำปางปะกง ทางวัดจัดสถานที่นั่งพักผ่อนริมน้ำและมีท่าน้ำขึ้นมายังวัดเพื่อเป็นท่าขึ้นเรือประจำวัด เราสามารถเดินทางท่องเที่ยวทางเรือได้อีกกิจกรรม มีแพลอยน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน และเป็นสถานที่ทำบุญปล่อยปลาสำหรับคนที่เข้ามาทำบุญที่วัด
นอกจากมีอุโบสถที่สายงามแปลกตาแล้วภายในศาลาวัดยังประดิษฐานพระรัตนสุวรรณ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำทั้งองค์ทรงเครื่อง สวยงามและเก่าแก่สร้างตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ที่มีประชาชนมากมายให้ความเคารพศรัทธา ที่ต่างเข้าไปเยี่ยมชมบารมีและความสวยงามพร้อมกับกราบไหว้สักการบูชา เพื่อเป็นมิ่งมงคลให้กับตนเอง ในทุก ๆวัน
 
 
 
 
นอกเหนือจากความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและสิ่งก่อสร้างแล้ว และด้วยความสำคัญของวัดนี้ทางด้านศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและการเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาที่สำคัญของจังหวัดปราจีนบุรี กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียน วัดนี้เป็นโบราณสถาน ของชาติ ในปี พ.ศ. 2533 
หลังจากที่เราไปชมอุโบสถสี่แผ่นดินกันจนเต็มอิ่มที่วัดแก้วพิจิตรแล้ว เราก็เดินทางมายังศาลหลักเมืองปราจีนบุรีโดยใช้ถนนเรียบแม่น้ำบางปะกง ย้อยกลับมาประมาณ 2 กิโลเมตร ศาลหลักเมืองนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีสำคัญประจำจังหวัดทุก ๆ จังหวัดของเมืองไทย ที่ประชาชนในท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปต่างให้ความเรารพศรัทธา เข้ามากราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง การมีเสาหลักเมืองประจำจังหวัดนั้นถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง
 
ที่วัดแก้วพิจิตรถือว่าเป็นวัดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี นอกจากมีพระอุโบสถที่เป็นสถาปัตยกรรม ร่วมสมัยผสมผสานจากสี่ประเทศเข้าด้วยกันได้อย่างสวยงามแล้ว  ที่วัดแก้วพิจิตรแห่งนี้ยังเป็นแหล่งความรู้ ซึ่งอุดมไปด้วยร่องรอยทาง ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นที่พึ่งทางจิตใจ และสอนจิตใจด้วยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เป็นแหล่งเผยแพร่ พระพุทธศาสนา และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดปราจีนบบุรี
 
 
 
วัดแก้วพิจิตร  ตั้งอยู่ที่ ถนนแก้วพิจิตร ต.หน้าเมือง บริเวณริมฝั่งด้านขวาของแม่น้ำบางปะกง ในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.   037-21 2795 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น.
 
          การเดินทาง มายังวัดแก้วพิจิตร  เดินทางเข้ามายังตัวเมือง จากนั้นใช้เส้นทาง หมายเลข 3071 หรือถนน ราษฎรดำริ ตรงเข้ามายังศาลากลางจังหวัดก่อนข้ามสะพานเข้าไปยังศาลากลางให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนแก้วพิจิตรเลียบแม่น้ำบางปะกงไปประมาณ 2 กิโลเมตร วัดตั้งอยู่ทางขวามือติดฝั่งแม่น้ำ มีป้ายบอกชัดเจน หลังจากนั้นก็เดินทางย้อนกลับมา ประมาณ 1 กิโลเมตร ทางเลียบแม่น้ำดังเดิมเพื่อไหว้ศาลพระหลักเมือง
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น