วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รู้จักภาคใต้ก่อนไปเที่ยว


ภาคใต้นับเป็น 1 ใน 4 ภูมิภาคหลักของประเทศไทย มีพื้นที่ 70,715.2 ตารางกิโลเมตร ความยาวจากเหนือจดใต้ประมาณ 750 กิโลเมตร ประกอบด้วย 14 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง กระบี่ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา พัทลุง ตรัง สงขลา สตูล ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
หอนาฬิกาตรัง

ในด้านประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานนั้น มีหลักฐานบ่งบอกว่านานกว่า 20,000 ปีทีเดียวที่แผ่นดินเรียวแหลมปลายด้ามขวานทองของไทยถูกเรียกว่าเป็นบ้าน ของคนกลุ่มหนึ่ง โดยคนยุคแรก ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคใต้คือชนชาวถ้ำและชนชาวน้ำ ซึ่งประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้จากหินและไม้ เช่น ลูกศรหิน หอก คันธนู ภาชนะดินเผา ฯลฯ ที่นักโบราณคดียุคปัจจุบันได้ขุดในช่วงต้นปี 2552 ก็ถูกขุดค้นพบที่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่

ในเวลาต่อมา จากกลุ่มบ้านเพียงไม่กี่หลังก็ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นเป็นชุมชน และมีการติดต่อกับชุมชนอื่นๆ เช่น จีน อินเดีย แล้วมีวิวัฒนาการทางด้านความเป็นอยู่ รวมถึงวิถีวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานจนกลมกลืนเป็นเอกลักษณ์ของชาวใต้ ทั้งภาษา การนับถือศาสนา การแต่งกาย อาหาร ประเพณีต่างๆ โดยการผสมผสานส่วนใหญ่นั้นสัมพันธ์แนบแน่นกับชวา-มลายู รวมทั้งมีวิถีชีวิตของจีนกลมกลืนเข้ามาบ้าง เห็นได้ชัดเจนในแถบอันดามัน คือ ระนอง พังงา และภูเก็ต

สำหรับทางด้านกายภาพ บนพื้นที่ประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตรของแผ่นดินไทย ซึ่งมีรูปร่างคล้ายขวานโบราณ หรือที่นักการทหารมองว่าคล้ายหัวช้างนั้น ได้รับการแบ่งออกเป็นภูมิภาคต่างๆ ตามลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เศรษฐกิจ และวิถีทางวัฒนธรรม เพื่อให้สะดวกต่อการปกครองและการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยภาคใต้เปรียบดังด้ามขวาน หรือวงช้างในแผนที่ประเทศไทยนั่นเอง ลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นของภาคใต้ คือ มีรูปร่างเรียวแหลมและถูกขนาบด้วยทะเล โดยฝั่งตะวันออกติดอ่าวไทย ส่วนฝั่งตะวันตกติดทะเลอันดามัน ทุกจังหวัดในภาคใต้มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ยกเว้นจังหวัดยะลา

ในส่วนของชายหาดฝั่งอ่าวไทยนั้นเกิดจากการที่เปลือกโลกยกตัวขึ้นสูง ทำให้เกิดที่ราบชายฝั่งทะเลยาว เรียบ กว้าง และน้ำตื้น ชายหาดสวยงามทางฝั่งอ่าวไทยมีมากมาย เช่น หาดทุ่งวัว หาดอรุโณทัย จังหวัดชุมพร หาดขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช แหลมสมิหลา จังหวัดสงขลา ฯลฯอ่าวสิมิรัน

ส่วนพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันเกิดการยุบตัวของเปลือกโลก ชายฝั่งจึงยุบต่ำลง มีที่ราบน้อยชายหาดเว้าแห่วง เป็นโขดหิน มีหน้าผาสูง มีอ่าวและเกาะมากมาย เช่น เกาะภูเก็ต เกาะตะรุเตา เกาะลันตา เกาะลิบง ฯลฯ อีกทั้งยังมีชายป่าชายแลนขึ้นอยู่หนาแน่นตั้งแต่อ่าวพังงาลงไปถึงจังหวัดสตูล

ส่วนพื้นที่ที่สองฝั่งทะเลของภาคใต้มีความแตกต่างเช่นนี้ นับเป็นข้อดีที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสเลือกเดินทางไปเยือนได้ตลอดทั้งปี ยกเว้นการลงเรือไปยังหมู่เกาะต่างๆ ต้องดูดินฟ้าอากาศเป็นสำคัญ โดยช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ก็ควรเลือกไปเที่ยวทะเลฝั่งตะวันออก คืออ่าวไทย ส่วนช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือผัดผ่านประเทศไทย เดือน พฤศจิกายน- มกราคม ก็ควรไปเที่ยวทะเลฝั่งตะวันตก คือด้านอันดามัน แต่สำหรับแหล่งท่องเที่ยวมากมายบนบกและชายฝั่ง สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

สำหรับลักษณะทางกายภาพบนบก ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีเทือกเขาสำคัญ คือเทือกเขาภูเก็ต อยู่ในเขตจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา และภูเก็ต เทือกเขานครศรีธรรมราช ทอดยางจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านนครศรีธรรมราช ลงมาถึงสตูล ซึ่งเทือกเขาทั้งสองนี้ตั้งอยู่ตรงกลางภาคทอดยางจากเหนือลงใต้ โดยความชันค่อยๆลาดไปสู่ฝั่งทะเลทั้งสองด้าน และอีกเทือกเขาสำคัญของภาคใต้คือเทือกเขาสันกาลาคีรี (อยู่ในเขตจังหวัดสงขลา ยะลา และนราธิวาส) ซึ่งเป็นพรมแดนกั้นระหว่างประเทศไทยกับมาเลเชีย
อ่าวพังงา
เทือกเขาในภาคใต้มีความยาวทั้งสิ้น 1,000 กิโลเมตร ซึ่งทั้งหมดคือแหล่งต้นน้ำสำคัญของภาคใต้ โดยสายน้ำย่อยๆ ได้ไหลลงไปรวมกันเป็นแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำตาปี (จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี) แม่น้ำคีรีรัฐ (สุราษฎร์ธานี) แม่น้ำปากพนัง (จังหวัดนครศรีธรรมราช) แม่น้ำสายบุรี (จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) และแม่น้ำกระบุรี (จังหวัดระนอง)
นอกจากนี้ ความล้ำค่าของภาคใต้ยังอยู่ที่พรรณพืชและสรรพสัตว์มากมาย ทั้งบนบกและใต้ทะเล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่ทรงคุณค่า หลายชีวิตนับเป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยว เช่น ดอกบัวผุดแห่งเขาสก ฉลามวาฬ กระเบนราหูใต้ทะเลอันดามัน ปลาหมดทะเล และสิ่งมีชีวิตใต้ห้วงน้ำอ่าวไทย ฯลฯ ซึ่งควรดูแลรักษาไว้ให้คงอยู่เป็น Amazing Thailand และ Unseen Thailand สืบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น